7 ประเภทขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้
- papperproductthail
- Jul 31, 2021
- 2 min read
เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่า ขยะพลาสติกประเภทไหนบ้างที่สามารถนำไปรีไซเคิลและเข้าสู่กระบวนการผลิตกลับมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ใหม่ได้ ซึ่งขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ถูกแบ่งเป็น 7 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

1. โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE) คุณสมบัติ : พลาสติกโพลีเมอร์ใส เนื้อเหนียว มีความทนทานต่อแรงกระแทก และมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่ผ่านของก๊าซได้ดี ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุแอลกอฮอล์ เช่น ขวดน้ำดื่มและขวดน้ำมันพืช สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1
2. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE)
คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดนี้มีความหนาแน่นสูง ทำให้แข็งแรง แต่โปร่งแสงน้อยกว่าโพลีเอทิลีน ความหนาแน่นต่ำ ทนกรดและด่าง ทั้งยังป้องกันการแพร่ผ่านของความชื้นได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตขวดนม ขวดเครื่องสำอาง ถุงพลาสติก ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี เช่น ถังน้ำมันรถ
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2
3. โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงมาก ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร แต่ป้องกันไขมันได้ดี
ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตท่อน้ำประปา หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปกรณ์การแพทย์
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 3
4. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกโปร่งแสง ที่มีปริมาตรสูง แต่ความหนาแน่นต่ำ
ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม ถุงใส่ของ และสายหุ้มทองแดง
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 4
5. โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP)
คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก และความร้อนสูง
ประโยชน์ : นำไปใช้ในการผลิตฉนวนไฟฟ้า บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด
สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 5
6. โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS) คุณสมบัติ : เป็นพลาสติกที่มีความโปร่งใส เปราะบาง แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่าง ๆ ได้ง่าย ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอสมควร ประโยชน์ : นำมาผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาชนะ เช่น ถ้วย จาน และกล่องโฟม สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 6
7. พลาสติกอื่น ๆ (Other) คุณสมบัติ : พลาสติกชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก เช่น โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate : PC) เป็นพลาสติกโปร่งใส มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี ประโยชน์ : นำมาใช้ในการผลิตปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา สัญลักษณ์ : สัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 7
พลาสติกแต่ละประเภท นำไปรีไซเคิลใหม่ได้ยังไงบ้าง
การลดจำนวนขยะพลาสติกแต่ละชนิด ถ้าผ่านการแยกขยะอย่างถูกต้องแล้ว จะถูกส่งไปที่โรงงานรีไซเคิล ผ่านการคัดกรอง ทำความสะอาด จากนั้นจะถูกนำไปหลอมและขึ้นรูปใหม่ แต่คุณภาพอาจจะด้อยลงกว่าเดิม เช่น
1. โพลีเอทิลีน เทอร์ฟะธาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE) สามารถนำมารีไซเคิลกลับมาเป็นขวดเครื่องดื่ม ขวดน้ำยาซักผ้า ฟิล์มใส เป็นต้น
2. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) มักนำมารีไซเคิลฟิล์ม บรรจุภัณฑ์ ท่อ พาเลท ถังน้ำมัน กล่องขนาดใหญ่ เป็นต้น
3. โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) นำมารีไซเคิลเป็นท่อน้ำประปา ข้อต่อ รองเท้า และกรวยจราจร เป็นต้น
4. โพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density polyethylene : LDPE) หากนำไปรีไซเคิลก็จะได้กระเป๋า น้ำยาประสานคอนกรีต ท่อ และแผ่นฟิล์ม เป็นต้น
5. โพลีโพรพิลีน (Polypropylene : PP) เมื่อนำไปรีไซเคิลก็จะได้กล่อง กระถางต้นไม้ ถังหมัก และแผ่นกรุผนัง เป็นต้น
6. โพลีสไตรีน (Polystyrene : PS) นำมารีไซเคิลเป็นไม้สังเคราะห์ กรอบรูป เครื่องใช้สำนักงาน ช้อน ไม้บรรทัด เป็นต้น
7. พลาสติกอื่น ๆ (Other) พลาสติกประเภทนี้สามารถนำไปผสมกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ แล้วรีไซเคิลเป็นท่อ นอต ล้อ พาเลท และเฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง เป็นต้น
ได้รู้กันแล้วว่า ขยะพลาสติกมีกี่ประเภท สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ ต่อจากนี้ก็หวังว่า เราทุกคนจะใช้พลาสติกกันอย่างรู้คุณค่า และทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกที่ เพื่อนำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วเหล่านี้กลับไปรีไซเคิลใหม่เพื่อวนกลับมาใช้ได้ซ้ำ ๆ สร้างประโยชน์ได้ใหม่มากกว่าทำลายโลก และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องแยกขยะพลาสติกก่อนทิ้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กรมควบคุมมลพิษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 ที่มา https://erc.kapook.com/article09.php
Comments